เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
[183] รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่มากมาย
ในราชนิเวศน์แห่งแคว้นกาสี
คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา และแก้วไพฑูรย์
[184] แก้วมณี สังข์ ไข่มุก ผ้า จันทน์เหลือง
หนังสัตว์ เครื่องงาช้าง ทองแดง และเหล็ก
เราขอมอบทรัพย์เครื่องปลื้มใจทุกชนิดนั้นให้แก่ท่านทั้ง 2
และขอปล่อยท่านทั้ง 2 ให้เป็นอิสระ
(พญาหงส์โพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[185] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ ข้าพระองค์ทั้ง 2
ผู้อันพระองค์ทรงยำเกรงและทรงสักการะแล้วโดยแน่แท้
ขอพระองค์โปรดทรงเป็นพระอาจารย์ของข้าพระองค์ทั้ง 2
ผู้ประพฤติในธรรมทั้งหลายเถิด
[186] ข้าแต่พระอาจารย์ผู้ทรงย่ำยีข้าศึก ข้าพระองค์ทั้ง 2
ผู้อันพระองค์ทรงอนุญาตแล้ว ทรงอนุมัติแล้ว
จะขอกระทำประทักษิณพระองค์แล้วกลับไปพบญาติทั้งหลาย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[187] พระเจ้ากาสีทรงดำริและทรงปรึกษา
อรรถคดีตามที่กล่าวมาตลอดราตรีทั้งปวงแล้ว
ทรงอนุญาตพญาหงส์ทั้ง 2 ตัวประเสริฐสูงสุดกว่าหงส์ทั้งหลาย
[188] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีรุ่งสว่าง ดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมา
ขณะพระเจ้ากาสีกำลังทอดพระเนตรอยู่
พญาหงส์ทั้ง 2 ได้โผบินไปสู่อากาศจากพระราชมณเฑียร
[189] หงส์ทั้งหลายเห็นพญาหงส์ทั้ง 2 นั้น
มาถึงโดยลำดับอย่างปลอดภัย
ต่างพากันส่งเสียงว่าเกก ๆ ได้เกิดสำเนียงเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :114 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 3.สุธาโภชนชาดก (535)
[190] หงส์เหล่านั้นผู้มีความเคารพต่อผู้เป็นนาย
พากันปลาบปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วง
จึงพากันแวดล้อมอยู่โดยรอบ หงส์ทั้งหลายได้ที่พึ่งแล้ว
[191] ประโยชน์ทั้งปวงของบุคคลผู้มีกัลยาณมิตร
ย่อมสำเร็จผลเป็นความสุขความเจริญ
เหมือนพญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง 2 ได้อยู่ใกล้หมู่ญาติฉะนั้น
มหาหังสชาดกที่ 2 จบ

3. สุธาโภชนชาดก (535)
ว่าด้วยอาหารทิพย์
(โกสิยเศรษฐีกราบทูลท้าวสักกะว่า)
[192] ของนี้ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ซื้อมา
ทั้งไม่ได้ขายและไม่ได้สะสมไว้ในที่นี้
มีอยู่เพียงนิดหน่อย ได้มาแสนยาก
ข้าวสุกแล่งหนึ่งไม่เพียงพอสำหรับคนสองคน
(ท้าวสักกะได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[193] บุคคลควรให้แต่น้อยจากของที่มีน้อย
ควรให้พอปานกลางจากของที่มีพอปานกลาง
ควรให้มากจากของที่มีมาก ชื่อว่าการไม่ให้ย่อมไม่ควร
[194] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(เมื่อท้าวสักกะประทับนั่ง จันทเทพบุตรจึงเข้าไปหาโกสิยเศรษฐีแล้ว กล่าวว่า)
[195] ผู้ใดเมื่อแขกนั่งอยู่แล้วยังบริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของผู้นั้นเป็นโมฆะ
แม้ความบากบั่นแสวงหาทรัพย์ของเขาก็เป็นโมฆะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :115 }